วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2551

การวิจัยปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือ ตำบลหนองหงส์

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัย

กรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เดิมเป็นส่วนพัฒนาการท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และสถาปนาเป็นกรมพัฒนาชุมชน เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2505 จนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 42 ปี ที่ผ่านมา ได้ทำงานร่วมกับชุมชนในระดับหมู่บ้านและตำบล ภายใต้ปรัชญาการพัฒนาชุมชนที่ว่า “มนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นสุข ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น และพร้อมที่จะอุทิศตนเพื่อกิจกรรมของชุมชน ขณะเดียวกันต้องยอมรับด้วยความบริสุทธิ์ใจว่ามนุษย์นั้นสามารถพัฒนาได้ถ้ามีโอกาสและได้รับการชี้แนะอย่างถูกต้อง” โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ใช้กระบวนการเรียนรู้เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีขีดความสามารถพึ่งตนเองได้ ในปัจจุบันมีหน่วยงานร่วมทำงานกับชุมชนมากขึ้น ทำให้ชุมชนมีโอกาสเรียนรู้และถ่ายทอดผลงานของตนสู่สาธารณชนผ่านเวทีวิชาการต่างๆ ที่หน่วยราชการ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ จัดขึ้น มีหลายชุมชนที่ผู้นำออกไปร่วมกิจกรรมเพื่อแสดงถึงศักยภาพในการพัฒนาชุมชนของตน
ชุมชนบ้านเหนือ ตำบลหนองหงส์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้แก่ ยางพารา สวนผลไม้ และจากแรงจูงใจในเรื่องค่าตอบแทนได้ส่งผลให้รูปแบบของการผลิตในด้านเกษตรของชุมชนแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไป แม้จะรู้ว่ามีปัจจัยเสี่ยงแต่เกษตรกรก็ยังคงมีการขยายการลงทุนการผลิตมากขึ้นโดยอาศัยปัจจัยแหล่งเงินกู้ยืมจากทั้งภายในและภายนอกระบบ ต่อมาภายหลังเมื่อผลผลิตที่ได้รับนั้นไม่เพียงพอกับรายจ่ายเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ เช่น สภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ราคาผลผลิตไม่แน่นอนและมีราคาตกต่ำ การกดราคาของพ่อค้าคนกลาง เป็นผลให้หลายครอบครัวต้องประสบกับปัญหาหนี้สิน ผนวกกับการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของแต่ละครอบครัว เช่น การดื่มสุรา การเล่นการพนัน ได้ทำให้ปัญหาหนี้สินกลายเป็นปัญหาหลักที่สำคัญของชุมชน จากประเด็นปัญหาดังกล่าวทำให้ทีมผู้วิจัยต้องการค้นหา สภาพปัญหาหนี้สินของชุมชน สาเหตุการเกิดปัญหาหนี้สิน แนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นการสำรวจและใช้ข้อมูลเป็นฐานการวิเคราะห์เรียนรู้ และผลักดันให้เกิดแผนงานที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นชุมชนยังมีฐานประสบการณ์การทำงานจากโครงการต่างๆ เพื่อร่วมกันลดปัญหาหนี้สินโดยการใช้รูปแบบการมีส่วนร่วมและพึ่งตนเองในการแก้ปัญหาหนี้สินต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาสภาพปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือ
2. เพื่อศึกษาสาเหตุการเกิดปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือ
3. เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมและการพึ่งตนเองในการแก้ปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือ
4. เพื่อศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือ

ขอบเขตของการวิจัย

1. ขอบเขตด้านประชากร
ประชากรบ้านเหนือ ตำบลหนองหงส์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
2. ขอบเขตด้านเนื้อหา
รูปแบบการมีส่วนร่วมและพึ่งตนเองในการแก้ปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือ
3. ขอบเขตด้านพื้นที่
บ้านเหนือ ตำบลหนองหงส์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
5. ขอบเขตด้านระยะเวลา
กรกฎาคม 2550 - ตุลาคม 2550

ข้อจำกัดในการวิจัย
1. การเปิดเผยข้อมูลด้านหนี้สินไม่อยู่ในสภาพเป็นจริง เนื่องจากผู้ที่มีหนี้สินจะไม่เปิดเผยสภาพหนี้สินที่เป็นจริงให้ผู้วิจัยได้ทราบ
2. การเก็บข้อมูลเป็นไปด้วยความเป็นส่วนตัวและเป็นแบบความลัพธ์ไม่สามารถ นำมาเปิดเผยกันแบบที่เวทีประชาคม เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาของรายบุคคลได้

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. ทราบสภาพปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือ
2. ทราบสาเหตุการเกิดปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือ
3. แนวทางการมีส่วนร่วมและการพึ่งตนเองในการแก้ปัญหาหนี้สิน
ของชุมชนบ้านเหนือ
4. ทราบแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือ

นิยามศัพท์เชิงปฏิบัติการ
การมีส่วนร่วม หมายถึง การเข้าร่วมอย่างเต็มที่ของกลุ่มบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกขั้นตอนของกระบวนการกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และหน้าที่ความรับผิดชอบ เพราะการมีส่วนร่วมจะเป็นหลักประกันว่า ความต้องการที่แท้จริงของตนจะได้รับการสนองตอบและที่สำคัญสามารถมั่นใจได้ว่า ผู้เข้าร่วมทุกคนจะได้รับผลประโยชน์จากกลุ่มอย่างยุติธรรมและเสมอภาคกัน
การพึ่งตนเอง หมายถึง ความสามารถในการดำรงตนอยู่อย่างอิสระ มั่นคง สมบูรณ์ ทั้งระดับปัจเจกชน และระดับชุมชน” และได้กล่าวถึงแบบจำลองการพึ่งตนเองว่าจะต้องพึ่งตนเองให้ได้ใน 5 ประการ คือ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ จิตใจ สังคม (Technology, Economic, Resource, Mental, Socia-TERMS)
ชุมชน หมายถึง บ้านเหนือ หมู่ที่ 6 ตำบลหนองหงส์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
จากผลการวิจัยเรื่อง รูปแบบการมีส่วนร่วมและพึ่งตนเองในการแก้ปัญหาหนี้สินของ
ชุมชนบ้านเหนือ ตำบลหนองหงส์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทางทีมวิจัยได้มีแนวความคิดในการศึกษา 5 ด้าน ดังนี้
1. สภาพปัญหาการเกิดหนี้สิน
สภาพการเกิดปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือ เกิดจากหลายสาเหตุดังนี้สภาพปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีหนี้สินค่อนข้างสูง เนื่องจากมีหลายองค์ประกอบที่ชาวบ้านให้ความเห็นถึงสภาพหนี้สินของชุมชนไว้น่าสนใจดังกล่าวต่อไปนี้ คือ ชาวบ้านใช้เงินไม่ตรงจุด มีการกู้เงินมาประกอบอาชีพ ชุมชนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น คือมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น รายรับน้อย และราคาของกินของใช้เพิ่มขึ้นเนื่องจากแต่เดิมราคาของไม่แพง ปัจจุบันค่าครองชีพสูง ชาวบ้านมีความฟุ่มเฟือยใช้เงินไม่ตรงจุด การกู้เงินนอกระบบ และไม่มีอาชีพที่สร้างความมั่นคงให้กับชาวบ้าน ชาวบ้านมีสภาพหนี้สินที่ต่อเนื่องโดยใช้วิถีชีวิตไปตามสภาพสังคมที่พัฒนาเทคโนโลยี ไม่ว่ารถจักรยานยนต์ รถยนต์ คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ฟุ่มเฟือยอีกมากมาย และสภาพหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือยังคงเกี่ยวพันกับส่วนอื่น ๆ อีก
2. สาเหตุการเกิดปัญหาหนี้สิน
สาเหตุการเกิดปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือ มีหลายสาเหตุ ดังนี้ หนี้สินเพื่อใช้ในการลงทุนประกอบอาชีพ หนี้สินเพื่อการศึกษาบุตร หนี้สินในการใช้จ่ายทั่วไป หนี้สินค่าเครื่องอุปโภค หนี้สินค่าเครื่องบริโภค และชาวบ้านไม่มีหนี้สินที่เกิดจากจ่ายค่าพยาบาล และจากการเล่นการพนัน
3. รูปแบบการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือ
รูปการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือ ชาวบ้านได้ให้ความคิดเห็นร่วมกันหลายกิจกรรม ดังนี้ ชุมชนบ้านเหนือมีการร่วมกันประชุมกันในหมู่บ้าน เดือนละ 1 - 2 ครั้ง เพื่อให้ชาวบ้านได้ทำการแลกเปลี่ยนแนวความคิดในการร่วมกันแก้ปัญหาการประกอบอาชีพเพื่อให้ชาวบ้านได้มีรายที่เพิ่มขึ้นเพื่อลดระดับปัญหาหนี้สินลง และมีการรณรงค์ให้ชาวบ้านในชุมชนร่วมกันใช้วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน จ่ายเงินให้ตรงกับวัตถุประสงค์ในการไปกู้เงินมาเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ตรงกับวัตถุสงค์ของเงินที่ไปกู้มาและได้นำเงินที่ได้รับจากผลผลิตไปชำระหนี้สินที่กู้ยืมมาเพื่อลดภาวะหนี้สิน และมีการรณรงค์ให้ลดรายจ่ายส่งเสริมให้มีการเพิ่มรายได้ มีเงินเหลือออม มีการส่งเสริมอาชีพเสริมให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละครอบครัว มีการตั้งกองทุนหมู่บ้านขึ้นเพื่อให้เป็นเงินทุนการกู้ยืมในอัตราที่ควรปลอดจากดอกเบี้ยเพื่อให้ชาวบ้านทุกคนได้นำไปใช้ในการสร้างอาชีพ ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าอุปโภค และบริโภค โดยไม่ต้องเพิ่มภาระหนี้สินขึ้นมาเพิ่มให้กับชาวบ้าน มีการรวมกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มปลูกมะละกอ กลุ่มปลูกผัก กลุ่มแกงขมิ้น และรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนมีสวนครัวเป็นของตนเองทุกครัวเรือน
4. การพึ่งตนเองในการแก้ปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านเหนือ
การพึ่งตนเองแล้วสามารถลดปัญหาหนี้สินได้เพื่อให้ได้ผลนั้นต้องกลับไปมองที่บ้านของทุกคนที่อยู่ในชุมชนบ้านเหนือ และรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนมีการกลับไปพัฒนาบ้านของตนเอง ให้มีการปลูกผักสวนครัว ทำบัญชีรายรับรายจ่าย สร้างอาชีพเสริมจากกิจกรรมที่มีส่วนร่วมของหมู่บ้านว่าแต่ละครอบครัวอยู่ในกลุ่มอาชีพเสริมประเภทไหนก็ให้นำกลับไปดำเนินการที่บ้านของตนเองให้เกิดผล และมีการกลับไปใช้วิถีเดิมที่รุ่นพ่อแม่ได้ทำกันมาคือ บ้านใครมีอะไรก็สามารถมาแลกเปลี่ยนกัน ไม่ต้องใช้เงินซื้อก็สามารถทำให้ลดค่าใช้จ่ายเป็นเบื้องต้นในการดำเนินชีวิตแบบวิถีเดิม ๆ นี้ก็สามารถทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขแล้วและเป็นการสร้างความผูกพันกันมีความสนิทสนมกันเหมือนเดิม ได้มีการช่วยเหลือกันในการทำงานไม่ต้องจ้างแรงงานจากภายนอกหมู่บ้านให้มาเป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ถ้าทุกคนในบ้านเหนือกลับมาร่วมแรงร่วมใจกันชาวบ้านบอกว่าเราก็สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานจากภายนอก คนที่อาศัยในชุมชนบ้านเหนือก็สามารถอยู่กันได้โดยการพึ่งตนเองอย่างแท้จริง
นอกจากนี้เมื่อได้ให้ชาวบ้านได้วิเคราะห์โดยกระบวนการ SWOT มาใช้ในการวิเคราะห์ชุมชนบ้านเหนือปรากฏว่า ชุมชนบ้านเหนือได้ทราบว่าตนเองมีทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค อะไรบ้าง ในการดำเนินการเพื่อให้ลดปัญหาหนี้สินของชุมชนของตนเองลงได้
5. แนวทางในการแก้ปัญหา
ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการหาแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินโดยการมีร่วมกันวางแผน ด้วยกัน 7 กลยุทธศาสตร์ ดังนี้
1.1 การบริหารจัดการที่ดี
เป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญสูงสุดที่ต้องดำเนินการเพื่อให้การพัฒนาทุกเรื่องบรรลุผลได้อย่างมี คุณภาพ และประสิทธิภาพ โดยชาวบ้านต้องสร้างระเบียบวินัย คุณธรรม และจริยธรรม ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน และสังคม มีส่วนร่วมคิด ร่วมดำเนินการ ร่วมตรวจสอบ และป้องกันการทุจริต ชาวบ้านต้องมีการปฏิรูประบบบริหารจัดการโดยมีการกระจายอำนาจ และสร้างกลไกการตรวจสอบการบริหารงานของชุมชนให้มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส มีระบบการบริหารจัดการความรับผิดชอบต่อชุมชน
1.2 การพัฒนาคุณภาพคนในชุมชน
เป็นยุทธศาสตร์ที่มีการมุ่งสร้างคนเก่ง คนดี มีคุณธรรมและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง สร้างโอกาสด้านการศึกษาและส่งเสริมให้คนมีงานทำอย่างทั่วถึง คนทุกระดับสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ได้รับการคุ้มครองทางสังคมตลอดจนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
1.3 การพัฒนาชนบท
เป็นยุทธศาสตร์ที่เสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ส่งเสริมภูมิปัญญา วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมท้องให้เกื้อหนุนต่อการสร้างรายได้ มีการพัฒนาชุมชนและเมืองให้คงอยู่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขและกระจายโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจที่เท่าเทียมทั้งในชนบทและเมือง
1.4 จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เป็นยุทธศาสตร์สร้างชุมชนให้มีจิตสำนึกและมีส่วนร่วมดูแลรักษาอนุรักษ์ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม อาทิ อนุรักษ์ฟื้นที่ป่าและทรัพยากร สัตว์น้ำ มีการป้องกันและแก้ปัญหามลพิษอย่างมี ประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้ผังเมืองเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อม
1.5 การบริหารเศรษฐกิจของชุมชน
เป็นยุทธศาสตร์เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของชุมชนให้เข้มแข็งและวางรากฐานการขยายตัวอย่างมีคุณภาพในระยะยาวโดยส่งเสริมให้ ชาวบ้านใช้จ่ายประหยัดและรู้จักการออม ผลิตและใช้ของภายในชุมชน และต้องดูแลหนี้ของชาวบ้าน มีการปรับระบบงบประมาณ ระบบภาษี เพื่อส่งเสริมการผลิตให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน ชุมชนต้องลงทุนอย่างมีวิสัยทัศน์ ยึดประโยชน์ส่วนรวม
1.6 การพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร พัฒนางานฝีมือหัตถกรรม ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายธุรกิจชุมชน เชื่อมโยงไปสู่ธุรกิจขนาดย่อมและขนาดใหญ่โดยชุมชนต้องมีแผนแม่บทชุมชน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทักษะแรงงาน รวมทั้งเจรจาต่อรองทางด้านการค้ากับพ่อค้าคนกลางที่เป็นประโยชน์ในการแข่งขันระดับต่างๆ ได้
1.7 การพัฒนาความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เป็นยุทธศาสตร์ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เตรียมความพร้อมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สามารถคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ และประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ร่วมเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอแนะ
1. ชาวบ้านควรมีการร่วมกันมือกันในการจัดทำแผนชุมชนบ้านเหนือให้เป็นของตนเองตามสภาพความเป็นจริงที่ชุมชนประสบปัญหาอยู่ มาใช้ในการทำแผนเพื่อได้แก้ปัญหาของชุมชนได้ตรงจุดตามความต้องการของชุมชนเอง
2. ชาวบ้านควรมีการร่วมกันจัดเวทีประชาคมเพื่อค้นหาสาเหตุของการเกิดหนี้ของชุมชนตามความเป็นจริงให้หมด เพื่อนำไปสู้การแก้ปัญหาได้จริงและช่วยลดปัญหาหนี้สินของชุมชน
3. ชาวบ้านควรมีการสร้างอาชีพเสริมโดยใช้ภูมิปัญญาของชาวบ้านเองในการนำมาเป็นองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติและแก้ปัญหาหนี้สิน
4. ชาวบ้านควรมีการสร้างเครือข่ายร่วมกันจากหมู่บ้านเป็นเครือข่ายหลักในการแก้ปัญหา สู่บ้านเรือน และองค์กรภายนอกหมู่บ้าน
5. ชาวบ้านมีการร่วมมือกันในการประเมินสภาพการแก้ปัญหาหนี้สินของชุมชนร่วมกัน

วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2550

อาหารพื้นบ้าน

ตำนานแกงขมิ้นหนองหงส์
แกงขมิ้นเป็นอาหารพื้นบ้านของ ต.หนองหงส์ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเกิดขึ้นครั้งแรกที่ หมู่ที่ 6 ต.หนองหงส์ อ.ทุ่งสง บ้านของขุนนัยหนองหงส์ (นายหมึก รัตนพันธุ์) เป็นกำนัน ตำบลหนองหงส์ ในสมัยนั้น พ.ศ.2440 อายุ 100 กว่าปีมาแล้ว ชาวบ้านได้มาติดต่อราชการต้องเดินทางไกลผ่านป่าเขามาพักแรมที่บ้านกำนัน เพราะเดินทางไม่สะดวก ต้องเดินเท้า ขี่ช้าง ม้า เกวียน เท่านั้น เมื่อชาวบ้านมานอนค้างมากๆ จึงต้องหุงข้าว หุงแกงกระทะ เลี้ยงรับรองและกับข้าวที่เป็นหลักก็คือ แกงขมิ้น และต่อมาก็เรียกติดปากว่า "แกงขมิ้นหนองหงส์" เพื่อเป็นเกียรติประวัติให้กับท่านขุนนัยหนองหงส์ ซึ่งเป็นผู้คิดค้นสูตรแกงขมิ้นนั่นเอง
ต่อมาแกงขมิ้นนี้ได้สืบทอดมา ชั้นลูกหลาน 3 ชั่วคนมาแล้ว และได้แพร่หลายไปสู่หมู่บ้านอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของ ต.หนองหงส์ ปัจจุบันนี้งานทุกงานไม่ว่างานกฐิน ผ้าป่า งานบวช งานศพ เทศกาลต่างๆ ใน ต.หนองหงส์ ต้องมีแกงขมิ้นเลี้ยงเกือบทุกงาน มีคนกล่าวว่า มาเยือนหนองหงส์ถ้าไม่ได้กินแกงขมิ้น ถือว่ายังมาไม่ถึง ต.หนองหงส์